รำลึกซิกร์ "ยาฮูเซน" ของชะฮีดฮูเซนพูร โดยอดีตทูตฯ อิหร่านประจำประเทศไทย

อิมามียะฮ์ เจอร์นัล : สำนักข่าวคะบัรออนไลน์ ได้เผยแพร่บทความหนึ่งของอดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย พณ ฯ มุฮ์ซิน พอกอออีน ในหัวข้อ "หวนรำลึกซิกร์ ยาฮูเซน ของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร" เพื่ออำลาอาลัยชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร จาก พณ ฯ มุฮ์ซิน พอกอออีน
ด้วยซิกร์ "ยาฮูเซน" ของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ที่จะมีขึ้นทุกครั้งแก่ทุกคนที่ได้พบกับท่านหลังจากการให้สลามในทันทีทันใด และโดยเฉพาะเสียงตามสายโทรศัพท์ทุกครั้งที่ไม่ว่าใครก็ตามโทรไปหาท่าน หรือท่านโทรไปหาผู้ใด คำแรกที่คู่สนทนาจะได้ยินก่อนคำพูดอื่นใดก็คือ "ยาฮูเซน" และก่อนที่จะวางสายคำพูดสุดท้ายก็คือ "ยาฮูเซน" เป็นซิกร์ที่เต็มไปด้วยความรักความอาลัยที่อัศจรรย์ยิ่ง
ในวันอังคาร 24/4/545 ทันทีที่ได้รับข่าวว่าอุละมาอ์ผู้พิการจากสงครามฮุจญตุลอิสลามเชคอะลี ฮูเซนพูร ได้หวนกลับคือสู่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) แล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงวันเวลาแห่งการรำลึกถึงวันชะฮาดัตของท่านหญิงฟาติมะฮ์ ซะฮ์รอ (อ) บุตรีของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ซึ่งอาจจะเป็นข่าวที่สั้นๆ แต่ได้สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวที่หนักหน่วงทีเดียวแก่ข้าพเจ้า
ทุกคนจะรู้จักชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ด้วยคำกล่าวซิกร์ "ยาฮูเซน" อุละมาอ์ผู้พิการจากศึกสงครามถึง 75 % ในแนวทางของผู้บัญชาการแห่งกัรบะลาท่านนี้ ได้เสียสละเท้าหนึ่งข้าง และดวงตาหนึ่งดวงของตนเอง แก่การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน

คำกล่าวซิกร์ "ยาฮูเซน" เป็นซิกร์ที่เต็มไปด้วยความรักความอาลัยที่อัศจรรย์ยิ่ง ซิกร์ "ยาฮูเซน" ของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ที่จะมีขึ้นทุกครั้งแก่ทุกคนที่ได้พบกับท่านหลังจากการให้สลามในทันทีทันใด และโดยเฉพาะเสียงตามสายโทรศัพท์ทุกครั้งที่ไม่ว่าใครก็ตามโทรไปหาท่าน หรือท่านโทรไปหาผู้ใด คำแรกที่คู่สนทนาจะได้ยินก่อนคำพูดใดจากท่านก็คือ "ยาฮูเซน" และก่อนที่จะวางสายคำพูดสุดท้ายของท่านก็คือ "ยาฮูเซน"
(ยังคงจำได้ดีสองครั้งสุดท้ายที่ได้ยิน "ยาฮูเซน" จากปากของท่าน ผ่านเสียงโทรศัพท์เมื่อโทรไปหาท่าน และอีกครั้งตอนที่จะลาจากท่าน ครั้งเมื่อไปเยี่ยมท่านที่บ้านเมื่อปลายปีที่ผ่านมา :ผู้แปล)
ข้าพเจ้าได้รู้จักกับอุละมาอ์ผู้สูงส่งท่านนี้ครั้งเมื่อได้รับหน้าที่จากรัฐอิสลามแห่งอิหร่านไปปฏิบัติภารกิจเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย ในเวลานั้นท่านชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้อยู่ในประเทศไทยในฐานะตัวแทนองค์การการศึกษานานาชาติประจำประเทศไทย และต่อมาองค์กรนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การญามิอะตุลมุศตอฟาในเวลาต่อมา
องค์การการศึกษาวิชาการศาสนานานาชาติ ได้มีภารกิจทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามที่แท้จริงของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ในต่างประเทศทั่วโลก และท่านชะฮีดอะลี ฮูเซนพูรผู้นี้ ก็ได้รับหน้าที่มาประจำการเป็นผู้บริหารการทำงานขององค์กรดังกล่าวในประเทศไทยในสภาพของผู้พิการจากสงคราม เป็นภารกิจที่สูงส่งยิ่ง นั่นคือการรับใช้แนวทางในการเผยแพร่วิชาการศาสนาอิสลามตามแนวทางชีอะฮ์อิมามียะฮ์ในประเทศไทย พม่า กัมพูชา บังคลาเทศ ศรีลังกา และลาว ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าภารกิจนี้ก็ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าภารกิจในสมรภูมิรบแห่งการปกป้องการปฏิวัติอิสลามของท่านก่อนหน้านี้แต่ประการใด

ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบกับชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ข้าพเจ้าจำได้ดี ณ สนามบินสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ วันนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสีหน้าของท่านบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายของท่านที่ไม่ค่อยจะดีนัก เนื่องจากเป็นผลพวงมาจากความเหนื่อยล้าของร่างกายจากการตรากตรำทำงานในสภาพที่พิการจากสงคราม ข้าพเจ้าจำได้ดีว่าวันนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวแก่ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูรว่า "โอ้เชคฮูเซนพูรที่รัก วันวานท่านได้รับใช้อิสลามในสมรภูมิรบมามากแล้ว วันนี้ท่านน่าจะเป็นผู้ที่หยุดพักผ่อนได้บ้างแล้วนะ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนธรรมดาเช่นเราได้รับใช้อิสลามแทนท่านเถิด เราพร้อมที่จะเป็นผู้รับใช้อิสลามและผู้รับใช้ท่านอย่างเต็มความสามารถ"
ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อข้าพเจ้าพูดคำนี้จบ ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้ส่งยิ้มให้กับข้าพเจ้าและได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า "ฉันรู้ตัวดีว่าฉันเป็นหนี้บุญคุณบรรดาผู้พลีชีวิตในหนทางของพระองค์ (ชุฮาดา) มากมายเสียเหลือเกิน และการที่ฉันได้ทำงานรับใช้อิสลามแบบหามรุ่งหามค่ำเช่นนี้ ฉันก็ยังถือว่ามันน้อยไปเสียด้วยซ้ำ"
ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้ก่อตั้งสถาบันสอนวิชาการศาสนาอิสลามขึ้นสองสถาบันในประเทศไทย คือสถาบันการศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดีย์ สำหรับเด็กนักเรียนผู้ชาย ที่ จ. นครศรีธรรมราช และสถาบันการศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดียะฮ์ สำหรับเด็กนักเรียนผู้หญิง ในกรุงเทพฯ และชะฮีดอะลี ฮูเซนพูรก็ได้จัดการบริหารโรงเรียนทั้งสองด้วยตัวของท่านเอง นอกจากนั้นท่านยังได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาวิชาการศาสนาในลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศพม่าอีกด้วย และท่านก็บริหารจัดการด้วยตัวเองอีกเช่นกัน
นับครั้งไม่ถ้วนที่ท่านต้องเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ และกรุงย่างกุ้ง ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าจะเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใด เมื่อนึกถึงความห่างไกลระหว่างสองสถานที่นั้น คุณูปการอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นจากภารกิจที่ยิ่งใหญ่นั้นของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร คงไม่สามารถที่จะบรรยายได้ด้วยข้อเขียน

ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่พระพจนารถของพระผู้เป็นเจ้า หรือคำภีร์อัลกุรอาน เป็นอย่างยิ่ง และในที่สุดท่านก็ได้มีการดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกุรอานรอซูลุลอะอ์ซอมเป็นผลสำเร็จในกรุงเทพฯ และต่อมาก็ได้ขยายสาขาไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และในประเทศพม่าในเวลาต่อมา
การให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งของท่านชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ที่จะต้องกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ท่านได้ให้ความสำคัญของการสมานฉันท์ระหว่างนิกายในอิสลาม และความเป็นเอกภาพในหมู่มุสลิมเป็นอย่างยิ่ง จึงกลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อมูลนิธิกุรอานรอซูลุลอะอ์ซอม (ศ)
ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้กล่าวย้ำหลายครั้งในหลายวาระว่า "ข้าพเจ้าได้เลือกชื่อ "รอซูลอะอ์ซอม (ศ)" มาเป็นชื่อของมูลินิธิอัลกุรอาน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมานฉันท์ และความเป็นเอกภาพในหมู่มวลมุสลิมชาวไทย" และนอกจากนั้นยังได้เปิดเว็บไซต์อัลกุรอานของมูลนิธิขึ้นเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์วารสาร "สาส์นจากฟากฟ้า" ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ก็เป็นผลงานการตั้งชื่อ และการจัดการของท่านทั้งสิ้น ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าที่คงเหลืออยู่ของอุละมาอ์ผู้สูงส่งท่านนี้ในประเทศไทย

ที่สำคัญอีกประการเรื่องของการประกาศการมาของอิมามมะฮ์ดี (อ) ท่านชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้มีการจัดประชุมเสวนาเชิงวิชาการที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อการเสวนาในครั้งนั้นว่า "อิมามมะฮ์ดี (อ) ในศาสนาต่างๆ ของมนุษยชาติ" ซึ่งมีนักวิชาการระดับสูงของมุสลิม คริสเตียน และพุทธ เข้าร่วมประชุมเสวนาอย่างมากมาย การประชุมในครั้งนั้นเป้าหมายก็คือต้องการให้ประชาชนชาวไทยทุกศาสนารู้จัก และเข้าใจเรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี (อ) ผู้ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของโลก
ไม่มีชาวอิหร่านในประเทศไทยคนใด และไม่มีชีอะฮ์คนใดในประเทศไทยจะลืมการบรรยายที่เต็มไปด้วยเนื้อหาวิชาการ และไม่ลืมหยาดน้ำตา ความอาดูร ของท่านชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร เมื่อครั้งที่ท่านได้ขึ้นบรรยายเรื่องราวของท่านอิมามฮูเซน (อ) และบรรดาชุฮาดาแห่งกัรบาลา ในช่วงเดือนมุฮัรรอมตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย
ทว่าสิ่งหนึ่งที่ควรจะกล่าวในที่นี้ด้วยเช่นกัน ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติภารกิจอันใหญ่หลวงของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร คือการร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ของภรรยาของท่านตลอดเวลา เป็นภรรยาที่เต็มไปด้วยคุณงามความดี เป็นผู้ที่มั่นคงอยู่ในแนวทางของพระองค์ และมีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง บทบาทของนางในการปฏิบัติภารกิจของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงไปพร้อมๆ กับความสำเร็จต่างๆ ของชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ด้วยเช่นเดียวกัน

ณ วินาทีนี้ ฮุจญตุลอิสลาม ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร ได้จากพวกเราหวนกลับคืนสู่พระองค์ไปแล้ว ในฐานะผู้ที่ประสพความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า บรรดามวลมะลาอีกะฮ์ของพระองค์กำลังสรรเสริญเขา หลังจากที่เขาได้ผ่านพ้นวันเวลาแห่งความลำบาก ในการปฏิบัติภารกิจที่บริสุทธิ์ใจทั้งภารกิจในสมรภูมิรบ และภารกิจในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของท่านตลอดช่วงชีวิตของท่านที่ผ่านมา
ชะฮีดอะลี ฮูเซนพูร คือมนุษย์ที่มีเกียรติคนหนึ่งบนหน้าแผ่นดินนี้ของพระองค์ ท่านได้ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงยังความเมตตาของพระองค์เดียว ท่านคือลูกผู้ชายตัวจริงของพระองค์ มีความกล้าหาญชาญชัย มีความบริสุทธิ์ใจ และได้หวนกลับคืนสู่พระองค์จากโลกดุนยานี้ ในฐานะ "ผู้พลีในหนทางของพระองค์" (ชะฮีด)
พวกเราทั้งหลายจะยังคงหวนรำลึกถึงท่านอยู่เสมอตลอดไป โดยเฉพาะคำกล่าวซิกร์ "ยาฮูเซน" ของท่านที่จะดังกึกก้องอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคนนิรันดร และสิ่งที่เดียวที่พวกเราทุกคนมีความหวังคือการได้รับชะฟาอัตจากท่าน และจากบรรดาผู้พลีในหนทางของพระองค์ท่านอื่นๆ ที่ได้เสียสละชีวิตเพื่ออิสลาม ในวันแห่งการตัดสิน ...... ยาฮูเซน

โดยพณ ฯ มุฮ์ซิน พอกอออีน อดีตเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย แปลโดย เชคมาลีกี ภักดี