|
||
สังคม ครอบครัว : เลี้ยงลูกยังไงไม่ให้ติดทีวี | ||
เลี้ยงลูกยังไงไม่ให้ติดทีวี แม่สองคนกำลังคุยปัญหาเรื่องเลี้ยงลูก
แม่คนที่หนึ่ง ฉันปวดหัวกับลูกจริงๆไม่รู้จะห้ามเขายังไงไม่ให้ดูทีวี แม่คนที่สอง ลูกฉัน ฉันบังคับเลยนะไม่ให้ดูทีวี ให้อ่านกุรอาน ทำนามาซ อย่างเดียว แม่คนที่หนึ่ง ไม่ดูเลยแล้วเขาจะรู้ข่าวสารและมีความรู้รอบด้านได้ไง แม่คนที่สอง เออนั่นซินะ แล้วเราจะทำยังไงดี คงต้องปล่อยไปตามนั้น เดี๋ยวมันโตขึ้นมันรู้เอง
เด็กติดทีวีและสื่อต่างๆในอินเตอร์เน็ต เป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเครียดและปวดหัวให้กับพ่อแม่หลายๆครอบครัวเป็นอย่างมาก พ่อแม่หลายคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเข้าใจผิดว่าเด็กจะฉลาดและมีความรู้มากขึ้น และอีกอย่างคือ เด็กจะไม่ต้องมายุ่ง จะได้มีเวลาทำงาน โดยไม่คิดถึงผลเสียที่เด็กจะได้รับ บางคนให้ลูกดูทีวีทั้งวันทั้งคืนเพราะเห็นว่าลูกชอบ เด็กจึงเติบโตมาด้วยการขัดเกลาจิตใจด้วยทีวี และสื่อต่างๆเหล่านั้น และไม่ได้ใส่ใจต่อเรื่องศาสนาหรือสิ่งอื่นเลย นอกจากการบ้าคลั่งเรื่องดารา นักร้อง แต่มีพ่อแม่บางคนที่ใส่ใจพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อไม่ให้ลูกติดทีวีหรือสื่อต่างๆในอินเตอร์เน็ต บ้างก็แก้ปัญหาโดยการโยนทีวีออกนอกบ้าน บ้างก็บังคับให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว ยุ่งแต่เรื่องศาสนาอย่างเคร่งครัด และไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเลย แต่ลืมไปว่าเมื่อเขาออกสู่โลกกว้างเขาก็ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ และไม่ได้นึกถึงผลเสียของการทำเช่นนั้น เพราะอาจจะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด เครียด และใจแตกก็ได้ ฉะนั้น วิธีการขัดเกลาจิตใจของลูกที่ดี ไม่ใช่การขัดเกลาเขาด้วยทีวีและสื่อต่างๆ หรือขัดเกลาเขาด้วยการให้ออกห่างจากทีวีและสื่อต่างๆในสังคม และหันไปเคร่งครัดเรื่องศาสนามากจนเกินไป อย่าลืมว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เหมือนสมัยก่อน และสิ่งเหล่านี้ก็มีประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิตอยู่บ้าง และเป็นแหล่งความรู้สำหรับเขาเพื่อการเติบโตไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน หากพ่อแม่เข้าใจและเอาใจใส่สักนิด การเลี้ยงลูกไม่ให้ติดทีวีไม่ใช่เรื่องยาก พ่อแม่สามารถให้ลูกดูทีวีได้ แต่เลือกรายการที่ดีๆและมีประโยชน์ให้เขา กำหนดเวลาให้เขา นั่งดูกับเขาอธิบายให้เขาเข้าใจว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร อย่าปล่อยให้ลูกดูทุกเรื่องทุกรายการตามใจชอบ หรืออาจจะใช้วิธีอื่น เช่น ทำกิจกรรมหรือหากิจกรรมอื่นที่สนุกๆให้เขาทำ หาหนังสือให้เขาอ่าน หรือ นั่งอ่านให้เขาฟัง ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้เขาไปในตัวด้วย อย่าสอนให้เขาวิ่งหนีจากเทคโนโลยีแต่สอนให้เขารับมือกับสิ่งเหล่านั้นด้วยหลักการทางศาสนา สอนให้เขามีจิตสำนึกแห่งการรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรตามหรือไม่ควรตาม สร้างและขัดเกลาจิตใจเขาด้วยจิตสำนึกแห่งความรักและยำเกรงในพระเจ้า สอนเขาด้วยสติปัญญา อย่าสอนเขาให้เคร่งศาสนา โดยการบังคับ หรือด้วยความกลัว เพราะจิตสำนึกในความรักและยำเกรงพระเจ้า จะทำให้เขาปฏิเสธสิ่งชั่วร้ายต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้เอง ทำให้เขารู้ว่าสิ่งไหนผิดสิ่งใหนถูก เช่น หากเขามีจิตสำนึกในความรักและยำเกรงพระเจ้า เขาจะรู้ว่าเป็นผู้หญิงต้องใส่ฮิญาบ และเขาจะใส่มันด้วยความรักและยำเกรงต่อพระองค์ ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ เพราะถ้าถูกบังคับเขาก็คงแอบถอดฮิญาบเวลาลับหลังพ่อแม่ก็ได้ เนื่องจากไม่มีใครเห็น และขาดหัวใจแห่งความรักและความตักวาในพระเจ้า ฉะนั้น จงหว่าน สร้าง ปลูกฝัง และขัดเกลาลูกของท่านด้วยจิตสำนึกแห่งความรักและความยำเกรง(ตักวา) ในพระเจ้า ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจิตสำนึกแห่งความรักและความตักวาต่อพระเจ้า เป็นแก่นแท้ของการมีชีวิตที่ดีทั้งมวล และนำไปสู่ความใกล้ชิดกับพระองค์ อย่ารอให้พวกเขาโตก่อนแล้วค่อยทำ เพราะณ.เวลานั้นใจของเขาอาจจะแข็งไปแล้วก็ได้ แต่จงทำในขณะที่เขายังเด็กอยู่
ดั่งที่ท่านอิมามอาลี (อ) ได้กล่าวไว้ว่า “จงปั้นดินในขณะที่มันยังนิ่มนวล และจงปลูกพืชในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าอยู่”
โดย ซะฮ์รอ นูรอัยนี |
||
พิมพ์จาก : http://www.ahlulbait.org/main/content.php?category=9&id=1801 วันที่ : 26 มกราคม 2564 http://www.ahlulbait.org |